Last updated: 17 ก.ย. 2567 | 83 จำนวนผู้เข้าชม |
วันนี้เป็นวันไหว้พระจันทร์ในบ้านเรา
คนไทยทั่วไปอาจจะงงๆว่า ไหว้ขนมไหว้พระจันทร์ทำไม?
เดิมที เทศกาลขนมไหว้พระจันทร์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ เทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วง (หรือ Zhong Qiu Jie ในภาษาจีนกลาง) ตรงกับวันที่ 15 ของเดือนจันทรคติที่ 8 เรียกว่าเทศกาลไหว้พระจันทร์เพราะวันที่ 15 คือกลางเดือน และเดือน 8 อยู่ในช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง
ในวันนี้ คนจีนมักจะไหว้ดวงจันทร์ในตอนกลางคืน ซึ่งต้องมีการจุดโคมประทีปสีแดง เช่นเวียดนาม หรือสิงคโปร บางที่จะมีการจัดเทศกาลเรือ เช่นในฮ่องกง
บางที่จะมีการเชิดมังกร ถ้าในบ้านเรา ยังคงทำประเพณี ดั้งเดิมนี้คือ ที่ อ.ปะเหลียน จังหวัดตรัง น่าจะเป็นที่เดียวในไทยที่มีการยึดธรรมเนียมปฏิบัตินี้อยู่
ส่วนขนมไหว้พระจันทร์ (月饼) ที่มีรูปทรงกลม ทำจากแป้ง มีไส้ต่าง ๆ เป็นธัญพืช ใช้เซ่นไหว้และรับประทานกันจนเป็นเอกลักษณ์สำหรับเทศกาลนี้
ในงานนี้ต่างประเทศทั่วไปจะเรียกว่า “Moon Festival”
ช่วงเวลานี้
เทศกาลไหว้พระจันทร์ หรือเทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วงเดิม มีความเกี่ยวข้องกับ "การชื่นชมพระจันทร์" (ซ่างเยว่) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากดวงจันทร์จะสว่างที่สุดในเดือน ช่วงไหว้พระจันทร์จะเกิดต่อจากงานวันสารท ที่เป็นวันเทศกาลเลี้ยงผี ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเดือนจันทรคติที่ 7 วัน
ความสำคัญของเทศกาล
เพราะพระจันทร์เต็มดวงถือเป็นสัญลักษณ์ของการกลับมาพบกันใหม่ เนื่องจากเทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วงนี้เรียกอีกอย่างว่าเทศกาลการรวมตัวใหม่
เทศกาลไหว้พระจันทร์ เชื่อกันว่าเป็นวันมงคลสำหรับงานแต่งงาน เนื่องจากเชื่อกันว่าเทพธิดาแห่งดวงจันทร์จะนำความสุขในการสมรสมาสู่คู่รัก
ประวัติ
เทศกาลนี้เริ่มต้นเมื่อกว่า 2,000 ปีที่แล้วเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองหลังการเก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งจัดขึ้นเพื่อขอบคุณเทพเจ้า
นักประวัติศาสต์และนักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าเทศกาลไหว้พระจันทร์เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ซ่งซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากประเพณีการไหว้พระจันทร์ ตำนานที่เกี่ยวข้องกับพระจันทร์เต็มดวงได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับเทศกาลนี้
ในสมัยจักรพรรดิไท่ (ราชวงศ์ซ่งเหนือ) กำหนดให้วันที่ 15 เดือน 8 เป็นวันกลางฤดูใบไม้ร่วง
ต้นกำเนิดเรื่องราว
นิทานที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ในหมู่ชาวจีน ที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลไหว้พระจันทร์ ต้นกำเนิดมาจากนักเล่าเรื่องในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618–907 คือเรื่องของ“ฉางเอ๋อ” ( Chang-E) หรือที่รู้จักกันในชื่อ เทพธิดาแห่งดวงจันทร์ (Moon Lady ) และ “โฮวอี้” Hou Yi (สามีของเธอนักยิงธนูแห่งสวรรค์ ที่ใช้ธนูยิงดวงอาทิตย์ตกลงไปถึง 9 ดวงจากทั้งหมด 10 ดวง) จึงโดนลงทัณฑ์ให้ไปใช้ชีวิตธรรมดาเช่นมนุษย์ทั่วไปบนโลกมนุษย์กับฉางเอ๋อ แต่แล้วโฮวอี้ก็ถูกคนสนิททรยศฆ่าตาย ส่วนฉางเอ๋อนางได้ดื่มน้ำอมฤตเพื่อที่จะมีชีวิตอมตะ แล้วเหาะกลับไปยังดวงจันทร์อีกครั้งตามลำพังด้วยความโศกเศร้า เมื่อเทพธิดาฉางเอ๋อซึ่งอยู่บนดวงจันทร์ได้มองลงมาเห็น ก็รู้สึกทุกข์ใจเป็นอย่างมาก จึงส่งกระต่ายหยกที่ปกติจะมีหน้าที่ตำยาอยู่บนดวงจันทร์ ให้ลงมารักษาโรคชาวบ้าน
และอีกตำนานคือ สมัยจักรพรรดิ์เหยา (ค.ศ. 2346 ก่อนคริสตศักราช)
อีกตำนานหนึ่งได้เล่าว่า มีอยู่ปีหนึ่งในเมืองปักกิ่งเกิดโรคอหิวาระบาดหนักไปทั่วประเทศ
กระต่ายหยก จากดวงจันทร์ แปลงกายเป็นหญิงสาวออกรักษาผู้คนให้หายจากโรคอหิวา ชาวบ้านรู้สึกซาบซึ้งใจในความช่วยเหลือ จึงได้ตอบแทนด้วยการให้สิ่งของต่าง ๆ แต่หญิงสาว หรือ กระต่ายหยกก็ไม่ยอมรับสิ่งใดเลย เพียงแค่ขอยืมชุดชาวบ้านใส่เท่านั้น ไปถึงไหนก็จะเปลี่ยนชุดไปเรื่อย ๆ บางทีแต่งเป็นคนขายน้ำมัน บางทีก็แต่งเป็นหมอดูดวง แต่งเป็นชายบ้าง แต่งเป็นหญิงบ้าง หลังจากกำจัดโรคให้ชาวเมืองจนหมดแล้ว กระต่ายหยกก็กลับขึ้นไปยังดวงจันทร์ นับแต่นั้นมาชาวบ้านจึงได้กราบไหว้บูชาเทพเจ้ากระต่ายในวันไหว้พระจันทร์ด้วย
ตำนานจักรพรรดิจีนและการเมือง เรื่องที่ 1
เรื่องราวได้เกิดในยุคของฮั่นเหวินตี้ แห่งราชวงศ์ฮั่น ได้ทรงพระสุบิน (ฝัน) ว่าพระองค์ลอยขึ้นไปเที่ยวชมพระราชวังบนดวงจันทร์ และได้พบกับฉางเอ๋อกำลังร่ายรำอยู่อย่างงดงาม พระองค์ทรงเพลิดเพลินและเกษมสำราญเป็นอย่างยิ่ง กระทั่งเมื่อตื่นพระบรรทมและโปรดให้สุบินนั้นเป็นความจริง จึงมีรับสั่งให้นางสนมแต่งตัวและร่ายรำเลียนแบบเทพธิดาฉางเอ๋อที่พระองค์ได้พบเจอมา
จากนั้นก็ได้แพร่หลายไปสู่ราษฎรและเป็นประเพณีต่อมา ซึ่งในอดีต ชาวจีนโดยเฉพาะหญิงสาวจะสวดขอพรจากเทพธิดาฉางเอ๋อเพื่อที่ขอให้มีความเยาว์วัยและงดงามตลอดไป
ตำนานจักรพรรดิจีนและการเมือง เรื่องที่ 2
ตามตำนานเล่าว่าเทศกาล หรือวันไหว้พระจันทร์เริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อ 2,000 ปีก่อนแล้ว ถือเป็นพิธีที่กษัตริย์จีนทรงประกอบพระราชพิธีเซ่นไหว้พระจันทร์เพื่อแสดงความขอบคุณพระจันทร์ เพราะชาวจีนโบราณเชื่อว่าดวงจันทร์มีส่วนช่วยให้เกิดฤดูกาล มีส่วนในนํ้าขึ้นนํ้าลง มีส่วนในการเริ่มต้นทำการเกษตร ดวงจันทร์จึงส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์และพืชพันธุ์ธัญญาหารเป็นอย่างมาก
ดังนั้นวันนี้ในหนึ่งปีชาวจีนทุกชนชั้นจึงแสดงความขอบคุณดวงจันทร์ด้วยการเซ่นไหว้นั่นเอง
ตำนานจักรพรรดิจีนและการเมือง เรื่องที่ 3
สมัยมองโกลเข้ามาปกครองแผ่นดินจีน ชาวมองโกลได้มีการส่งทหารของตนไปประจำอยู่ในบ้านของชาวจีนครอบครัวละ 1 คนเพื่อสอดส่องดูแล
สิ่งนี้ทำให้ชาวจีนขุ่นเคืองใจอย่างมาก ท่านหลิวปั๋วเวินจึงคิดวิธีหนึ่ง คือให้นำกระดาษเขียนข้อความแล้วสอดไส้ไว้ในขนมเพื่อเรียกร้องให้ชาวจีนทุกคนลงมือสังหารทหารมองโกลที่ประจำอยู่ในบ้านของตนอย่างพร้อมเพรียงกันในวันเพ็ญเดือนแปด
ทั้งนี้เพื่อให้ชาวจีนที่ไปซื้อขนมมารับประทานกันได้อ่านข้อความดังกล่าวและช่วยกันกระจายข่าวนี้ออกไป เพื่อก่อการปฏิวัติโดยพร้อมเพรียงกัน
ณ วันเพ็ญเดือนแปดเลยทำให้สามารถโค่นล้มอำนาจการปกครองของมองโกลได้ในที่สุด
(หากนึงไม่ออกให้กลับไปดูมังกรหยกตอนที่ก๋วยเจ๋งจะนัดทำการผ่านทางขนมไหว้พระจันทร์)
และเพื่อเป็นการฉลอง และรำลึกการกอบกู้แผ่นดินที่ประสบความสำเร็จ ประเพณีรับประทานขนมไหว้พระจันทร์ในวันเทศกาลดังกล่าวจึงมีการสืบทอดกันตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
พิธีไหว้พระจันทร์
การไหว้พระจันทร์เป็นหนึ่งในพระราชพิธีประจำปีสำคัญ สำหรับจักรพรรดิ เป็นตัวแทนราษฎร์ บวงสร้างฟ้า (ทีกง) ดิน(แม่ธรณี) พระอาทิตย์ และเทพเจ้าแห่งการเกษตร (ฝูซี) ทุกปีเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน โดยเป็นพระราชพิธีสำคัญที่จะต้องประกอบพระราชพิธีทุกปี
ในสมัยรัชกาล หมิง ซื่อ จง แห่งราชวงศ์หมิง ซึ่งศรัพธาในลัทธิเต๋า โดยโปรดให้สร้าง
เย่ว์ถาน (月坛) ทางทิศตะวันตก ตรงประตูฟู่เฉิงเหมิน (阜成门) เพื่อใช้ในการพระราชพิธีพิธีไหว้พระจันทร์โดยเฉพาะ คู่กับ
วิหาร พระอาทิตย์ (日坛 ) ทางทิศตะวันออก ของปักกิ่ง และ วิหารแห่งโลก (地坛) ทางทิศเหนือ และยังให้ต่อเติม
หอสักการะแผ่นดินและฟ้า เทียนตี้ถานหรือตอนหลังเปลี่ยนชื่อเป็นเทียนถาน และใช้มาจนถึงรัชวงศ์ชิง ที่สิ้นสุดระบบราชสำนักจีน (เป็นหลักพื้นฐานอี้จิงของฮวงจุ้ย64ข่วย และดวงจีนในผังก่อนฟ้าและผังหลังฟ้า)
ขั้นตอนพิธีการไหว้พระจันทร์หรือเทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วง
พิธีไหว้พระจันทร์ จะไหว้กลางแจ้งหลังพระอาทิตย์ตกดินหรือเริ่มตอนหัวค่ำ แค่มองเห็นดวงจันทร์ก็ไหว้ได้แล้ว แต่ต้องตั้งโต๊ะไหว้ให้เรียบร้อยก่อนพระจันทร์ลอยสูงเกินขอบฟ้า และเก็บก่อนที่พระจันทร์เลยหัวไปหรือเมื่อเทียนดอกใหญ่ดับลง
สถานที่ไหว้พระจันทร์อาจเป็นลานบ้านหรือดาดฟ้าก็ได้
ถ้าจะไหว้เพื่อขอคู่ ให้บวงสรวงของไหว้เจ เหมือนไหว้เจ้าแม่กวนอิมแต่ต้องตั้งเป็นคู่เท่านั้น
ยกเว้นบางอย่างอาจจะไหว้อย่างละ 5 คือ 5 ธาตุ ควรตั้งด้วยของแห้ง เพื่อกันเน่าเสีย และเก็บไว้บริโภคต่อได้นาน
ของไหว้ประกอบไปด้วย ชุดใหญ่
1. น้ำชาหรือใบชา 4 ถ้วย
2. อาหารเจ 4 อย่าง เช่น วุ้นเส้น, ดอกไม้จีน, เห็ดหูหนู, เห็ดหอม, ฟองเต้าหู้ เป็นต้น
3. ขนมหวาน 4 อย่าง เช่น ขนมไหว้พระจันทร์ ขนมเปี้ยะ สาคูแดง 4 ถ้วย ขนมโก๋สีขาว
4. ผลไม้ 4 อย่าง ควรเป็นผลไม้ที่เป็นมงคล เช่น
· ส้ม หมายถึง เป็นสิ่งมหามงคล
· ทับทิม ที่มีเมล็ดมากมาย หมายถึง การมีลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง
· องุ่น หมายถึง มีแต่ความเพิ่มพูน
· แอปเปิ้ล หมายถึง ความสงบสุข สันติ
· สาลี่ หมายถึง มีแต่เรื่องดีๆ สิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต
· ส้มโอ หัวเผือก
5. ดอกไม้สด 1 คู่ ธูป 3 ดอก หรือ 5 ดอก เทียน 1 คู่ และกระถางธูป
6. ของใช้ส่วนตัวของผู้หญิง เช่น ชุดเครื่องแป้ง เครื่องสำอาง เครื่องประดับ เครื่องแต่งกายของผู้หญิง
7. โคมไฟ เพื่อให้มีชีวิตที่สว่างไสว
8. อ้อย 1 คู่ สำหรับทำเป็นซุ้ม
9. กระดาษไหว้พระจันทร์ กระดาษเงิน กระดาษทอง เช่น ค้อซี, กอจี๊, เนี้ยเก็ง, โป๊ยเซียนตี่เอี๊ย คือ กระดาษเงินกระดาษทอง, เนี้ยเพ้า คือ ชุดเจ้าแม่พระจันทร์
ของไหว้ประกอบไปด้วย ชุดเล็ก
1.ขนมไหว้พระจันทร์
2.เครื่องสำอาง , น้ำหอม
3.ผลไม้ 3-5 อย่าง
4.ดอกไม้สด
5.ธูป , เทียน
5.น้ำสะอาด
จากนั้นนำของทั้งหมดมาจัดวาง เริ่มจากการตั้งโต๊ะ มีซุ้มประตูที่ทำจากต้นอ้อยผูกโคมไฟไว้กับต้นอ้อยให้สวยงาม วางกระถางธูป เทียนไว้ด้านหน้าสุด ดอกไม้วางไว้สองข้าง ผลไม้จัดตามความสวยงาม ส่วนขนมไหว้พระจันทร์ที่จัดเรียงเป็นชั้น วางขนมโก๋ และขนมหวานต่างๆ รอบโต๊ะวางประดับประดาด้วยกระดาษลวดลายที่มี อย่างไรก็ดีการจัดตั้งโต๊ะนั้นไม่ตายตัวเสมอไป แล้วแต่ใครมีวิธีการที่ต่างกันไปเน้นความสวยงามเป็นหลัก จากนั้นก็ไหว้อธิษฐานขอพรต่อพระจันทร์
แต่ถ้าอยากทำแบบง่ายๆ เพียงไหว้ไหว้พระจันทร์หรือขนมอื่นๆ ร่วมด้วยแต่ต้องเป็นขนมรูปทรงกลม รวมไปถึงของใช้ที่จำเป็นสำหรับผู้หญิง และโหลหรือชามใส่น้ำตั้งเอาไว้เพื่อให้เป็นแสงสะท้อนจากเงาจันทร์เสมือนว่าเราได้อาบแสงจันทร์เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ไหว้นั่นเอง และอย่าลืมนะครับว่ากุศโลบายของชาวจีน ในการไหว้เกือบทุกเทศกาล คือการให้สมาชิกในครอบครัวได้มาพบกัน และใช้เวลาทำกิจกรรมเก็บความทรงจำร่วมกัน แค่ปีละหน และยังได้เป็นการสืบทอดธรรมเนียมวัฒนธรรมแบบโบราณต่อไป
3 ต.ค. 2567
1 ต.ค. 2567
1 ต.ค. 2567